ผลที่ตามมา ของ วิกฤตรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975

การหาเสียงเลือกตั้ง

งานเปิดตัวนโยบายของพรรคแรงงานออสเตรเลีย ที่มีผู้คนเข้ามาร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ที่สนามซิดนีย์โดเมน ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975

ข่าวการปลดวิทแลมแพร่กระจายไปทั่วประเทศออสเตรเลียในบ่ายวันนั้น ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงในทันที ในวันที่ 12 พฤศจิกายน โชลส์เขียนจดหมายทูลเกล้าฯ ถึงพระราชินี ขอพระราชทานพระบรมราชโองการให้คืนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับวิทแลม เซอร์ มาร์ติน ชาร์เทอริส ราชเลขานุการในพระองค์ เขียนตอบไปในจดหมาย ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 มีความว่าดังนี้

ตามที่พวกเราเข้าใจสถานการณ์ในตอนนี้ รัฐธรรมนูญออสเตรเลียมอบพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างเด็ดขาด ในฐานะตัวแทนสมเด็จพระราชินีนาถแห่งออสเตรเลีย บุคคลเดียวที่มีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้คือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และสมเด็จพระราชินีนาถทรงไม่มีส่วนในการตัดสินใจของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ต้องทำตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พระองค์ในพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งออสเตรเลียทรงทอดพระเนตรเหตุการณ์ในแคนเบอร์ราด้วยความสนพระทัยและตั้งพระทัยเป็นอย่างยิ่ง และคงจะไม่เป็นการเหมาะสมที่พระองค์จะลงไปแทรกแซงด้วยพระองค์เองในเรื่องที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าเป็นอำนาจของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[95]

ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 คณะรัฐมนตรีเฟรเซอร์ 1 เข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อเคอร์ ในคำบอกเล่าบางแหล่งเล่าว่า เคอร์ถามเพื่อขอคำความมั่นใจในพิธีนั้น โดยถามว่าวุฒิสมาชิกของฝ่ายพันธมิตรพรรคไม่เคยคิดที่จะถอยก่อนที่งบประมาณจะหมดลงใช่หรือไม่ เขาถามว่า "วุฒิสภาไม่เคยคิดจะยอมถอยใช่ไหม" ตามคำบอกเล่าเหล่านั้น วุฒิสมาชิก มาร์กาเร็ต กิลฟอยล์ หัวเราะและพูดกับเพื่อนสมาชิกว่า "เขารู้แค่นั้นสินะ"[96] กิลฟอยล์กล่าวในเวลาต่อมาว่า ถ้าเธอเคยพูดเช่นนั้น สิ่งที่เธอพูดไม่ได้หมายความว่าวุฒิสมาชิกฝั่งพันธมิตรพรรคจะแตกแถว[97] อย่างไรก็ตาม เคลลีทำรายชื่อของวุฒิสมาชิกพันธมิตรพรรคสี่คนที่เปิดเผยหลังจากเหตุการณ์ผ่านมาหลายปีว่า พวกเขาคงจะสวนมติพรรคและลงคะแนนให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณหากรู้ว่าเหตุการณ์จะเป็นเช่นนี้[97]

พรรคแรงงานเชื่อว่าตัวเองมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง และการปลดนายกรัฐมนตรีจะเป็นข้อได้เปรียบในการเลือกตั้งสำหรับพวกเขา[98] อย่างไรก็ตาม นักยุทธศาสตร์ของพรรคแรงงานบางคนเชื่อว่าพรรคกำลังมุ่งสู่ตวามหายนะ เพราะมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จเพียงไม่กี่อย่าง และอารมณ์ของผู้เลือกตั้งคงจะเย็นลงไปแล้วก่อนถึงวันเลือกตั้ง[99] อย่างไรก็ดี วิทแลมที่เริ่มหาเสียงเกือบจะทันทีหลังจากที่โดนปลด ได้รับการต้อนรับจากมวลชนอย่างล้นหลามในทุก ๆ ที่ที่เขาไป มีมวลชน 30,000 คนมาเข้าร่วมงานเปิดตัวหาเสียงของพรรคจนล้นสนามซิดนีย์โดเมนเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน[99] ในค่ำวันนั้น วิทแลม กล่าวสุนทรพจน์ครั้งสำคัญที่หอแสดงเฟสติวัลฮอลล์ต่อหน้า 7,500 คนและยังมีผู้ชมทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ เขาเรียกวันที่ 11 พฤศจิกายน ว่าเป็น "วันอัปยศของเฟรเซอร์ เป็นวันที่จะอยู่ในความอัปยศไปชั่วกาล"[100]

ผลสำรวจความเห็นถูกเผยแพร่ในช่วงท้ายสัปดาห์แรกของการหาเสียง และแสดงให้เห็นว่าพรรคแรงงานตามหลังอยู่เก้าจุด ในตอนแรกทีมงานหาเสียงของวิทแลมไม่เชื่อผลนี้ แต่ผลสำรวจอื่น ๆ ที่ตามมาทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้เลือกตั้งกำลังถอยห่างจากพรรคแรงงาน ฝ่ายพันธมิตรพรรคโจมตีพรรคแรงงานในประเด็นสภาพเศรษฐกิจ และปล่อยโฆษณาทางโทรทัศน์ชุด "สามปีอันมืดมน" (The Three Dark Years) ที่แสดงภาพจากข่าวอื้อฉาวในรัฐบาลวิทแลม

แคมเปญหาเสียงของพรรคแรงงาน มุ่งประเด็นไปยังเรื่องการปลดวิทแลม แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจจนกระทั่งเหลืออีกไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้ง เมื่อถึงตอนนั้น เฟรเซอร์ซึ่งมั่นใจแล้วว่าจะชนะ พอใจที่จะถอยฉากออกมา หลีกเลี่ยงที่จะลงรายละเอียดเชิงนโยบาย และระวังไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด[101] แทบไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเลยระหว่างช่วงหาเสียง ยกเว้นแต่ระเบิดในซองจดหมายที่ถูกส่งทางไปรษณีย์ ฉบับหนึ่งระเบิดในสำนักงานของเบลย์เคอ-ปีเตอร์เซน ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 2 คน ในขณะที่สองฉบับที่ส่งไปให้เคอร์และเฟรเซอร์ ถูกสกัดและปลดชนวนได้ก่อนที่จะระเบิด[102]

ระหว่างการหาเสียง ครอบครัวเคอร์ซื้ออพาร์ทเมนต์ในซิดนีย์ ในขณะที่เซอร์จอห์นเตรียมตัวที่จะลาออกจากตำแหน่งในกรณีที่พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้ง[103]

ในการเลือกตั้งวันที่ 13 ธันวาคม ผลคือฝ่ายพันธมิตรพรรคชนะการเลือกตั้งเป็นประวัติการณ์ โดยได้ 91 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่พรรคแรงงานได้ไปเพียง 36 ที่นั่ง ส่วนในวุฒิสภาฝ่ายพันธมิตรพรรคก็ได้เสียงข้างมากที่ห่างขึ้นไปอีกเป็น 35 ต่อ 27[104]

ปฏิกิริยา

การปลดนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญและทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย[105] ในปี 1977 รัฐบาลเฟรเซอร์เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 มาตราผ่านการลงประชามติ ผลคือประชาชนลงคะแนนให้ผ่าน 3 มาตรา

หนึ่งในมาตราที่รัฐบาลเสนอร่างแก้ไขคือการกำหนดให้วุฒิสมาชิกที่ถูกแต่งตั้งเพื่อแทนเก้าอี้ที่ว่างลงต้องมาจากพรรคการเมืองเดียวกันกับวุฒิสมาชิกที่ออกไปเท่านั้น[8] วุฒิสภายังคงมีอำนาจในการยับยั้งงบประมาณ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยังมีอำนาจในการปลดรัฐมนตรี (รวมถึงนายกรัฐมนตรี)[8] อย่างไรก็ตาม นับแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีการใช้อำนาจเหล่านั้นอีกเลยเพื่อบีบให้คณะรัฐมนตรีต้องออกจากการเป็นรัฐบาล

เมื่อเกิดเหตุการณ์ปลดนายกรัฐมนตรี พรรคแรงงานและผู้สนับสนุนโกรธแค้นเคอร์เป็นอย่างมาก มีการชุมนุมประท้วงในทุกที่ที่เขาปรากฎตัว ส่วนสมาชิกรัฐสภาที่เหลืออยู่ของพรรคแรงงานก็คว่ำบาตรไม่ยอมเข้าร่วมพิธีเปิดอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่เคอร์เป็นประธานในพิธี

วิทแลม ซึ่งกลายเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ปฏิเสธทุกคำเชิญให้ไปงานที่ยาร์ราลัมลา ซึ่งครอบครัวเคอร์ยังคงเชิญอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งเขาปฏิเสธคำเชิญไปพิธีถวายการต้อนรับสมเด็จพระราชินีนาถในปี 1977 ที่ทำให้ครอบครัวเคอร์รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องพยายามอีกต่อไป[106] วิทแลมไม่พูดกับเคอร์อีกเลย[107] แม้แต่สมาชิกรัฐสภาพรรคแรงงานที่เคยเป็นเพื่อนกับเคอร์ก็ตัดขาดความสัมพันธ์ เพราะคิดว่าเคอร์ทรยศพรรคแรงงานและลอบกัดวิทแลม เลดีเคอร์กล่าวว่าทั้งเธอและสามีของเธอต้องเผชิญกับ "ฉากใหม่อันไร้ซึ่งเหตุผล เต็มไปด้วยศัตรูรอบตัวในพริบตา"[108]

วิทแลมด่าว่าเคอร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกี่ยวกับบทบาทของเขาในการปลดนายกรัฐมนตรี เมื่อเคอร์ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1977 วิทแลมแสดงความเห็นว่า "เหมาะสมดีที่บูร์บงคนสุดท้ายจะโค้งอำลาในวันบัสตีย์"[109] หลังจากที่เคอร์ลาออกจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เขายังคงต้องการที่จะดำรงตำแหน่งทางราชการอยู่ โดยให้เหตุผลว่าเป็นความตั้งใจของเขาที่จะดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ครบ 10 ปี อย่างไรก็ตาม ความพยายามของเฟรเซอร์ที่จะแต่งตั้งเคอร์ให้เป็นฑูตประจำองค์การยูเนสโก (ตำแหน่งที่วิทแลมได้เป็นในเวลาต่อมา) ทำให้เกิดแรงต่อต้านจากสาธารณชนอย่างรุนแรงจนต้องถอนการเสนอชื่อออกไป ครอบครัวเคอร์ใช้เวลาอีกหลายปีอยู่ในทวีปยุโรป[110] และเมื่อเคอร์ถึงแก่อนิจกรรมในประเทศออสเตรเลียในปี 1991 ไม่มีการประกาศแจ้งการถึงแก่อนิจกรรมจนกระทั่งหลังจากที่เขาถูกฝัง[111]

ในปี 1991 วิทแลมกล่าวว่าคงไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนใดในอนาคตที่จะทำเหมือนเคอร์ ถ้าผู้นั้นไม่อยาก "กลายเป็นที่ถูกประณามและต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว"[112]

ในปี 1997 เขาพูดว่าหนังสือให้พ้นจากตำแหน่งมี "ข้อบกพร่องเนื่องด้วยเป็นการด่วนตัดสิน ตัดสินใจโดยฝ่ายเดียว เป็นการเจาะจง และเกิดขึ้นในที่ลับ" (ex tempore, ex parte, ad hoc and sub rosa)[113]

ในปี 2005 วิทแลมเรียกเคอร์ว่าเป็น "คนที่น่ารังเกียจ"[105] ขณะเดียวกันในอีกฝั่งหนึ่ง ดัก แอนโธนี หัวหน้าพรรคชนบทและรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ผมให้อภัยกอฟไม่ได้ที่จับเขามาตรึงกางเขนอย่างนี้"[108] เซอร์การ์ฟีลด์ บาร์วิค ก็ไม่เว้นที่จะถูกวิทแลมด่าใส่ โดยอดีตนายกรัฐมนตรีพรรณนาว่าเขาเป็น "คนชั่วช้า"[114]

วิทแลมลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงานหลังจากที่พรรคประสบกับความพ่ายแพ้ติดต่อกันเป็นครั้งที่สองในการเลือกตั้งปี 1977[115] เฟรเซอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 7 ปี และลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคเสรีนิยมหลังจากที่ฝ่ายพันธมิตรพรรคพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1983[116]

หลายปีต่อมา วิทแลมและเฟรเซอร์เลิกความบาดหมางต่อกัน วิทแลมเขียนในปี 1997 ว่าเฟรเซอร์ "ไม่ได้จงใจที่จะหลอกลวงผม"[117] ทั้งสองออกมารณรงค์ร่วมกันเพื่อสนับสนุนการลงประชามติในปี 1999 เพื่อเปลี่ยนออสเตรเลียให้กลายเป็นสาธารณรัฐ[118] แกรห์ม ฟรอยเด็นเบิร์ก ผู้เขียนสุนทรพจน์ให้กับวิทแลม ได้กล่าวไว้ว่า "ความเคียดแค้นที่สะสมมาจากพฤติกรรมของตัวแทนองค์พระราชินี มาเจอทางลงที่สร้างสรรค์ในแนวร่วมสนับสนุนสาธารณรัฐออสเตรเลีย"[119]

ฟรอยเด็นเบิร์ก สรุปชะตากรรมของเคอร์หลังจากเหตุการณ์ปลดนายกรัฐมนตรีไว้ดังนี้

ผู้ได้รับผลประโยชน์จากการปลดนายกรัฐมนตรีแทบไม่สนใจที่จะปกป้องเคอร์และในท้ายที่สุดก็ทอดทิ้งเขาไป ในแง่ตัวบุคคล เซอร์ จอห์น เคอร์ ตกเป็นเหยื่อที่แท้จริงจากการปลดนายกรัฐมนตรี และประวัติศาสตร์เห็นตามความเป็นจริงที่โหดร้ายและน่าจะเจ็บแสบจากคำประกาศของวิทแลม ณ ขั้นบันไดอาคารรัฐสภาในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 ที่ว่า "พวกเราอาจพูดได้ว่า "ขอให้พระเจ้าคุ้มครององค์พระราชินี" เพราะไม่มีสิ่งใดจะคุ้มครองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้"[120]

การประเมิน

ในปี 1995 การสำรวจของเคลลีเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวิกฤตครั้งนี้จากหนังสือ November 1975 เคลลียกให้เป็นความผิดของเฟรเซอร์ที่ทำให้วิกฤตเริ่มขึ้น[121] และเป็นความผิดของวิทแลมที่พยายามฉวยโอกาสใช้วิกฤตในการทำลายเฟรเซอร์และวุฒิสภา[122] อย่างไรก็ดี เขายกให้เคอร์มีความผิดมากที่สุด ที่ไม่ซื่อตรงกับวิทแลม จงใจปิดบังซ้อนเร้นเจตนาของตนเอง และไม่ยอมเตือนอย่างตรงไปตรงมาก่อนที่จะปลดวิทแลม เคลลีอธิบายไว้ดังนี้

[เคอร์] ควรที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อองค์พระมหากษัตริย์และต่อรัฐธรรมนูญอย่างกล้าหาญและไม่หวั่นเกรง เขาควรจะพูดเรื่องนี้ตรง ๆ กับนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ต้น เขาควรที่จะเตือนในทุกที่และทุกเวลาที่เหมาะสม เขาควรที่จะรู้ว่า ไม่ว่าเขาจะมีความกลัวอย่างไร ก็ไม่มีข้ออ้างใด ๆ ที่จะอนุญาตให้ปฏิบัติตัวเป็นอื่นได้[123]

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนก่อนเคอร์ เซอร์ พอล แฮสลัค เชื่อว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตขึ้นคือการขาดความเชื่อใจและความไว้วางใจระหว่างวิทแลมกับเคอร์ และบทบาทที่สมควรของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือการให้คำปรึกษา คำแนะนำ และคำเตือน[124]

แหล่งที่มา

WikiPedia: วิกฤตรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975 http://www.crikey.com.au/2015/11/11/what-the-queen... http://www.theage.com.au/national/how-one-strong-w... http://www.theage.com.au/news/general/nothing-will... http://www.theaustralian.com.au/in-depth/cabinet-p... http://www.theaustralian.com.au/news/inquirer/whit... http://adb.anu.edu.au/biography/cain-john-9661 http://primeministers.naa.gov.au/primeministers/wa... http://www.nla.gov.au/amad/nla.oh-vn1791129?search... http://www.abc.net.au/7.30/content/2005/s1479968.h... http://www.abc.net.au/am/content/2005/s1499058.htm